“ที่อุดหู” หรือ “ที่ครอบหู” เลือกอย่างไร เพื่อความปลอดภัยทางเสียง

“ที่อุดหู” หรือ “ที่ครอบหู” เลือกอย่างไร เพื่อความปลอดภัยทางเสียง

เสียง เป็นอีกหนึ่งประสาทสัมผัสที่ผ่านทางหู ช่วยในการสนทนากับผู้อื่น หรือช่วยให้เราสนุกไปกับเสียงเพลง เห็นได้ว่าเสียง มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นเสียงที่อยู่ในระดับความดังที่เหมาะสม เพราะหากเราได้ยินเสียงดังเกินปกติเป็นเวลานานๆ จะก่อให้เกิดปัญหาได้ เริ่มตั้งแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ  หงุดหงิดใจ ไปจนถึงสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อหู โดยเฉพาะเซลล์ขนหรือประสาทรับเสียงเสื่อมสภาพเร็วขึ้น เป็นที่มาของอาการ “หูตึง” และหากยังได้รับอันตรายจากเสียงเกินมาตรฐานต่อไปเรื่อยๆ อาจทำให้ถึงขั้น “หูหนวก”

 

เสียงดังแค่ไหน ก่อให้เกิดอันตรายต่อหู

สำหรับผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม งานที่ใช้เครื่องจักร หรือปฏิบัติงานบริเวณลานบิน ย่อมมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากเสียงมากกว่าอาชีพอื่นๆ จนได้มีการวิจัยและศึกษาเพื่อกำหนดมาตรฐานสากลมาแล้วว่า สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน กำหนดให้เสียงในพื้นที่ทำงานไม่ควรเกิน 85 เดซิเบล (เอ) และ 95 เดซิเบล (เอ) สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสียงดังไม่เกิน 4 ชั่วโมงต่อวัน หากเกิดกว่ามาตรฐานดังกล่าว จะก่อให้เกิดอันตรายต่อหูได้ แต่เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายจากเสียงดัง จึงควรใช้อุปกรณ์ลดความดังเสียง อย่าง ที่อุดหู หรือ ที่ครอบหู

อุปกรณ์ลดเสียง

เนื่องจากการทำงานในพื้นที่ที่เกิดเสียงดังเกินมาตรฐาน ไม่สามารถเลี่ยงได้สำหรับหลายๆ อาชีพ ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน หรืออุปกรณ์ลดเสียง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอันตรายกับหู โดยอุปกรณ์หลักๆ ที่ใช้ที 2 ประเภทคือ ที่อุดหู และที่ ครอบหู

ที่อุดหู (Ear Plugs)

ที่อุดหู หรือ Ear Plugs เป็นอุปกรณ์ลดเสียง ที่ใช้การสอดเข้าไปในรูหู เป็นชนิดที่นิยมใช้งานมากที่สุด เนื่องจากราคาต่อคู่ไม่แพง สะดวกต่อการพกพา และเนื่องจากมีขนาดเล็ก จึงทำให้ที่อุดหูสามารถใช้งานได้แม้ทำงานในพื้นที่แคบ สวมใส่สบาย ไม่ทำให้เกิดการอับชื้นบริเวณหูแม้ทำงานในพื้นที่ชื้นหรือร้อน

ที่อุดหู มีข้อจำกัดในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ เนื่องจากต้องสอดเข้าไปในรูหู ใช้เวลานานในการใส่ หรือถอดออก และด้วยขนาดเล็ก อาจทำให้สูญหายได้ง่าย และสิ้นเปลือง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ต้องบีบก่อนใส่ และประเภทที่ใส่ได้เลย ที่อุดหูส่วนใหญ่สามารถลดเสียงได้ประมาณ 23-33 เดซิเบล

  • ที่อุดหูประเภทที่ต้องบีบก่อนใส่ ส่วนใหญ่ทำจากโฟม มีทั้งแบบที่ไม่มีสายคล้องคอ และแบบที่มีสายคล้องคอ ก่อนใช้งานต้องใช้นิ้วคลึงปลั๊กอุดหูทีละด้านให้มีขนาดเล็กที่สุด หลังจากนั้นให้นำมืออีกข้าง อ้อมศีรษะมาดึงใบหูขึ้น เพื่อเปิดรูหูให้ใส่ที่อุดหูได้ง่ายขึ้น ดันปลั๊กเข้าไปและใช้มือกดต่ออีกประมาณ 30 วินาที เพื่อให้ที่อุดหูขยายตัวเต็มที่
  • ที่อุดหูประเภทไม่ต้องบีบก่อนใส่ นิยมทำจากยาง ซิลิโคน หรือพลาสติกขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ที่อุดหูแบบนี้จะมีสายคล้องคอ ใช้ซ้ำได้ บริเวณหัวปลั๊กมีลักษณะเป็นชั้นๆ ส่วนมากเป็น 3 ชั้น จากเล็กไปใหญ่ วิธีการใส่คือ ให้เอามืออีกข้างอ้อมศีรษะมาดึงใบหู และใส่ที่อุดหูเข้าไป ดันให้ 2 ชั้นแรกเข้าไปในรูหู ส่วนชั้นที่ 3 ปิดไว้นอกใบหู

ที่ครอบหู (Ear Muffs)

ที่ครอบหู หรือ Ear Muffs เป็นอุปกรณ์ลดเสียงที่มีลักษณะเหมือนหูฟังแบบครอบหู สามารถปรับเลื่อนขนาดตามศีรษะของแต่ละคนได้ มีขนาดใหญ่ไม่ทำให้สูญหายง่าย ใส่และถอดสะดวก ตรวจสอบการใช้งานได้ง่ายกว่าแบบที่อุดหู เนื่องจากที่ครอบหูไม่ต้องสอดเข้าไปในหู ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทนทานใช้งานได้นานกว่าที่อุดหู

แต่ทั้งนี้ที่ครอบหูมีข้อจำกัดในเรื่องของน้ำหนักที่มากกว่าที่อุดหู ไม่สะดวกสบายหากต้องใช้งานในพื้นที่ชื้นและร้อน และด้วยขนาดใหญ่ ไม่เหมาะที่จะใช้ในพื้นที่ทำงานแคบๆ หากใช้ร่วมกับแว่นตานิรภัย อาจทำให้เกิดการกดทำบริเวณขาแว่น ทำให้ไม่สบายต่อผู้ใช้งาน สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทเช่นกัน คือ ที่อุดหูประเภทคาดศีรษะ และที่อุดหูแบบประกอบเข้ากับหมวกนิรภัย ที่ครอบหู ส่วนใหญ่สามารถลดความดังเสียงได้ประมาณ 22-30 เดซิเบล

 

วิธีการเลือกที่อุดหู ที่ครอบหู

การเลือกอุปกรณ์ลดเสียงสามารถเลือกจากหลากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกคือ ที่อุดหูหรือที่ครอบหู จะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน เนื่องจากลักษณะพื้นที่ทำงาน และลักษณะงาน รวมทั้งความร้อน ความชื้นในพื้นที่ทำงานของแต่ละคนแตกต่างกัน ควรเลือกอุปกรณ์ลดเสียงที่ทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายที่สุดในการทำงานนั้นๆ

อีกปัจจัยที่ขาดไปไม่ได้ คือความสามารถในการลดเสียงดังของทั้งที่อุดหู และที่ครอบหู เพราะแต่ละแบบมีประสิทธิภาพหรือค่าลดเสียง (NRR) แตกต่างกันไป ก่อนซื้อมาใช้ให้ดูที่ค่าลดเสียงของอุปกรณ์ชิ้นนั้นเทียบกับระดับเสียงขณะทำงานเสมอ หรืออิงตามตารางการเลือกค่า NRR (Noise Reduction Rating)

 

ค่าความดังของเสียงในพื้นที่งาน (เดซิเบล) อัตราลดเสียงของอุปกรณ์ (NRR)
85-90 20 หรือต่ำกว่า
91-95 20-30
96-100 25-35
101-105 30 ขึ้นไป

 

 

เราจะเห็นได้ว่าการเลือกใช้ที่อุดหู หรือที่ครอบหู ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักในส่วนของความสามารถในการลดเสียง แต่การจะเลือกใช้ที่อุดหูหรือที่ครอบหู ขึ้นอยู่กับความสะดวกสบายของผู้ใช้ และความเหมาะสม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน นอกจากนี้สิ่งที่สถานประกอบการควรใส่ใจเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเสียงดังในที่ทำงาน คือหากมีเสียงดังเกินมาตรฐาน ต้องติดป้ายเพื่อแจ้งให้ทุกคนสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียง ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม และควรทีการจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

 

 

ที่มา: safetyppe.comsupersafetythailand.com  และ Office Mate