ไขข้อสงสัย ถังดับเพลิงมีกี่ชนิด พร้อมการใช้งานที่เหมาะสม
ในตัวอาคารหรือโรงงานแม้จะมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติแล้ว การติดตั้งถังดับเพลิงหรือเครื่องดับเพลิงแบบมือถือก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยลดการสูญเสียจากเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็ว
ถังดับเพลิงเป็นอุปกรณ์ช่วยดับเพลิงที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ แต่อาคารหรือโรงงานแต่ละแห่งก็มีวัสดุและเชื้อเพลิงในอาคารที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับกับรูปแบบของเชื้อเพลิงจึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยให้อันตรายจากเพลิงไหม้นั้นลดลงได้ เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบ จะช่วยให้คุณเข้าใจประเภทของเพลิงไหม้และประเภทของถังดับเพลิง พร้อมช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกชนิดของถังดับเพลิงที่เหมาะสมกับอาคารและตามประเภทของเชื้อเพลิงได้
ประเภทของเพลิงไหม้
ไฟเกิดจากการรวมตัวขององค์ประกอบ 3 อย่าง คือ เชื้อเพลิง (Fuel) ความร้อน (Heat) และอากาศ (Oxygen) โดยเพลิงไหม้เกิดจากไฟที่ลุกไหม้บนเชื้อเพลิงในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจน หากต้องการทำการดับไฟต้องทำให้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งหายไปหรือไม่เพียงพอต่อการเผาไหม้
ความรุนแรงเมื่อเกิดเพลิงไหม้มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของเชื้อเพลิง ทำให้เพลิงไหม้ถูกแบ่งประเภท ตามเชื้อเพลิงที่ติดไฟ เพื่อให้สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสมที่สุดเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้
- เพลิงไหม้ประเภท A (Ordinary Combustibles) เพลิงไหม้ประเภทนี้เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ขยะ พลาสติก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่พบได้ในอาคารที่พักอาศัยทั่วไป ซึ่งเพลิงไหม้ประเภทนี้สามารถดับได้ด้วยน้ำเปล่า
- เพลิงไหม้ประเภท B (Flammable Liquids) เป็นเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวติดไฟ มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นน้ำมันดิบ น้ำมันก๊าซ น้ำมันเบนซิน และก๊าซไวไฟ เช่น บูเทน (Butane) หรือ โพรเพน (Propane) โดยเชื้อเพลิงเหล่านี้พบได้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ไปจนถึงการผลิตสีบางชนิด เชื้อเพลิงประเภท B จะสามารถลุกไหม้ได้นานเมื่อมีออกซิเจนอยู่รอบๆ การดับเพลิงไหม้ประเภทนี้จึงต้องกำจัดออกซิเจนโดยรอบออก
- เพลิงไหม้ประเภท C (Electrical Equipment) เป็นเพลิงไหม้ที่เกิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่ หรืออุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอยู่ตลอดเวลาที่ทำงาน เช่น มอเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตัวแปลงกระแสไฟฟ้า เป็นต้น อุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอยู่ตลอดเวลาจะทำให้เกิดความร้อนสูง เมื่อมีการชำรุดเสียหายอาจจะก่อให้เกิดเพลิงไหม้ประเภท C ได้ การดับเพลิงไหม้ประเภทนี้ควรต้องระบบไฟฟ้าก่อนทำการดับไฟ
- เพลิงไหม้ประเภท D (Combustible Metals) เพลิงไหม้ประเภทนี้เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นโลหะติดไฟได้ เช่น ไทเทเนียม (Titanium), แมกนีเซียม (Magnesium), อลูมิเนียม (Aluminium) และ โพแทสเซียม (Potassium) เป็นต้น เป็นเชื้อเพลิงที่พบได้ในห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานโลหะเหล่านี้ โดยเพลิงไหม้ประเภทนี้ไม่สามารถดับด้วยน้ำเปล่าได้
- เพลิงไหม้ประเภท K (Combustible Cooking) เพลิงไหม้ประเภทนี้เกิดกับเครื่องครัว น้ำมันที่ใช้ในครัว ไขมันสัตว์ ไปจนถึงของเหลวที่ใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่พบได้ในครัวเรือนและร้านอาหาร
การแบ่งประเภทของถังดับเพลิง
การเลือกซื้อถังดับเพลิงสำหรับอาคารหรือโรงงานของคุณ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการดับไฟของเชื้อเพลิงในอาคาร ซึ่งถังดับเพลิงแต่ละชนิดจะบรรจุสารภายในถังที่แตกต่างกันเพื่อสามารถในการดับเพลิงแต่ละประเภท รวมถึงขนาดที่เหมาะสมกับการเลือกใช้ตามขนาดของพื้นที่ในอาคารด้วย
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers)
ถังดับเพลิงประเภทนี้บรรจุผงเคมีแห้งและก๊าซไนโตรเจนที่สามารถระงับปฏิกิริยาเคมีของการเกิดเพลิงไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฝุ่นละอองและขัดขวางการลุกไหม้ของออกซิเจนกับเชื้อเพลิง จึงเหมาะสำหรับการดับเพลิงได้หลายรูปแบบ ทั้งเพลิงไหม้ประเภท A, B และ C เหมาะกับการใช้ในอาคารพักอาศัย บ้าน โรงงานอุตสาหกรรม
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย HCFC-123 (Halotron Extinguishers)
สารดับเพลิงชนิดสารเคมีเหลวที่มีความเย็นจัดเมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอระเหย ทำหน้าที่กำจัดความร้อนและขัดขวางการเผาไหม้ออกซิเจนและไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าโดยไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับ ถังดับเพลิงชนิดนี้สามารถดับเพลิงไหม้ได้ทั้งประเภท A, B, C และ K เหมาะกับการใช้งานในห้องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรือ เครื่องบิน
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม (Foam Extinguishers)
ภายในถังดับเพลิงจะบรรจุโฟมที่เมื่อฉีดออกมาแล้วจะเป็นฟองโฟมกระจายปกคลุมเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ทำให้ไฟขาดออกซิเจนและลดความร้อน รวมถึงการปกปิดพื้นผิวของของเหลวอย่างน้ำมันได้ดี ใช้ดับเพลิงประเภท A และ B ได้ดี แต่ไม่สามารถใช้ดับเพลิงประเภท C ได้ เนื่องจากโฟมมีส่วนผสมของน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงและสารระเหยติดไฟ ที่พักอาศัย ปั๊มน้ำมัน
- ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide (CO2) Extinguishers)
ถังดับเพลิงประเภทนี้จะบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เมื่อฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นไอเย็นจัดของน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ปกคลุมบริเวณที่เกิดเพลิงลุกไหม้ ช่วยให้ลดความร้อนและดับไฟได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงไม่ทิ้งคราบสกปรก สามารถใช้ดับเพลิงได้ทั้งประเภท B และ C เหมาะสำหรับโรงงานที่มีไลน์การผลิตขนาดใหญ่
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers)
ถังดับเพลิงชนิดน้ำเหมาะสำหรับการดับเพลิงไหม้ประเภท A เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของเชื้อเพลิงที่เป็นวัตถุของแข็งอย่าง ไม้ กระดาษ พลาสติก ผ้า โดยบรรจุน้ำธรรมดาและก๊าซเอาไว้ เหมาะสำหรับการใช้ดับเพลิงในอาคารที่พักอาศัย
- ถังดับเพลิงชนิด BF2000
ถังดับเพลิงชนิดนี้บรรจุน้ำยาที่เป็นสารระเหยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ดับไฟประเภท A, B, C และ D โดยน้ำยาที่ฉีดออกมาจะไม่ทำลายสิ่งของหรือเครื่องใช้ใดๆ เหมาะสำหรับการใช้ในห้องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์
การเลือกถังดับเพลิงโดยดูจากประสิทธิภาพของการดับไฟ
ประสิทธิภาพของการดับไฟหรือ Fire Rating คือ สมรรถนะที่ใช้ในการทดสอบดับไฟ ซึ่งถูกกำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ สมอ. ที่ได้จัดทำเป็น มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดย มอก. 332-2537 สำหรับถังดับเพลิงที่ติดอยู่บนฉลากข้างถังดับเพลิง ได้กำหนดสมรรถนะของถังดับเพลิงไว้เพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างของประสิทธิภาพในการดับเพลิงไว้ เพื่อการเลือกใช้ที่เหมาะสม
การเลือกใช้ต้องได้รับการรองรับผลิตภัณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไทย (มอก.)
ถังดับเพลิงหรือเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ ต้องเหมาะสมกับประเภทของเชื้อเพลิงและเป็นไปตามมาตรฐานเหล่านี้
- มอก.332 เครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้ง
- มอก.881 เครื่องดับเพลิงยกหิ้ว : คาร์บอนไดออกไซด์
- มอก.882 เครื่องดับเพลิงยกหิ้ว : โฟม
- มาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนด หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า
สรุป
การเลือก ถังดับเพลิง มาใช้ในอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรมของคุณ ควรเลือกจากประเภทของเชื้อเพลิงที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการดับไฟของถังดับเพลิง รวมถึงการเลือกขนาดการใช้งานที่เหมาะสมกับพื้นที่ของอาคารด้วย เพื่อความปลอดภัยในการใช้ดับเพลิงได้อย่างถูกต้องและควบคุมสถานการณ์ได้ทันที