แถบผ้าสะท้อนแสง เลือกอย่างไรจึงจะปลอดภัย
มีหลายคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ท้องถนนเวลาตอนกลางคืน และก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานในเวลากลางคืนเช่นกัน แล้วทั้งคนใช้รถบนท้องถนนกับคนทำงานในเวลากลางคืนจะเกิดความปลอดภัยได้อย่างไร
อันตรายจากการทำงานในเวลากลางคืนหรือในสภาวะแสงน้อย ในเวลากลางวันมีปริมาณแสงสว่างมาก วัตถุบนถนนจะถูกมองเห็นได้ชัดเจนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของดวงตามนุษย์ในการแยกแยะรายละเอียดขนาดเล็กในภาพที่เห็น ขณะที่ในเวลากลางคืนความแตกต่างของความสว่างจะมีความสำคัญมากกว่า ดังนั้นการถูกมองเห็นอย่างชัดเจนในเวลากลางคืนจึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการสร้างความแตกต่างของความสว่างให้ปรากฏแก่ผู้มองวัตถุและสามารถแยกแยะได้ว่านี่คือมนุษย์หรือสิ่งของ
สำหรับช่วงเวลากลางคืน การเพิ่มความสามารถในการถูกมองเห็นของวัตถุ ต้องใช้วัสดุเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นหรือวัสดุสะท้อนแสงเข้ามาช่วย ซึ่งมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ต้องมีความสว่างเพียงพอเมื่ออยู่บนร่างกายของพนักงาน เพื่อให้สามารถถูกมองเห็นได้จากระยะปลอดภัยที่ต้องการ
- ต้องถูกมองเห็นได้อย่างเด่นชัดจากทุกทิศทางไม่ว่าพนักงานจะเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวในอิริยาบถใด (ให้ความปลอดภัยแบบ 360 องศา)
- ต้องมีการออกแบบรูปแบบในการติดวัสดุสะท้อนแสงลงบนเสื้อผ้า ให้ผู้มองเห็นรับรู้ได้ว่าวัตถุที่เห็นเด่นชัดนั้นคือมนุษย์ นั่นคือผู้สังเกตจะต้องแยกแยะได้ว่าที่เห็นนั้นคือพนักงานมิใช่เครื่องจักร หรือ รถยนต์ หรือวัตถุอื่นใด
- สามารถแสดงให้ผู้มองเห็นรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของพนักงานได้มากที่สุด และแม้ไม่มีการเคลื่อนไหว ผู้สังเกตก็จะต้องสามารถเห็นพนักงานได้อย่างชัดเจนเช่นกัน
เคยสังเกตหรือนึกสงสัยกันหรือไม่? ว่าเสื้อสะท้อนแสงที่เราเคยใส่หรือเคยเห็น มันสะท้อนแสงได้อย่างไรกัน ในตัวแถบของเสื้อมีการติดวัสดุอะไรถึงสะท้อนแสงออกมาได้
แถบสะท้อนแสงสำหรับติดบนเสื้อผ้าหรือชุด มีวัสดุสะท้อนแสงใช้กระบวนการทางฟิสิกส์ที่รู้จักกันในชื่อ Retro reflection โดยใช้เม็ดลูกแก้วทรงกลมขนาดเล็ก (Tiny glass beads) หรือไมโครปริซึมขนาดเล็ก (Prismatic elements) จำนวนหลายล้านชิ้น สะท้อนแสงที่ตกกระทบให้โฟกัสกลับไปในทิศทางที่แสงถูกส่องเข้ามาช่วยให้พนักงานที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ติดด้วยแถบสะท้อนแสงถูกสังเกตเห็นจากผู้ขับขี่รถได้ชัดเจนจากระยะที่ไกลกว่า จึงมีเวลาในการชะลอ หยุด หรือเบี่ยงเส้นทางหลบเลี่ยงได้ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ มีการประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเย็บติดกับเสื้อผ้า การเชื่อมติด มี 2 แบบ คือ
- เทคโนโลยีเม็ดลูกแก้ว (Tiny glass beads) แสงที่เข้ามาจะถูกหักเหเมื่อผ่านผิวด้านหน้าของลูกแก้วแล้ว สะท้อนกลับเมื่อกระทบกับกระจกที่อยู่ด้านหลังลูกปัด โดยแสงที่สะท้อน กลับจะหักเหอีกครั้งเมื่อวิ่งผ่านผิวด้านหน้าของลูกแก้วกลับออกไป วัสดุสะท้อนแสงที่ใช้เทคโนโลยีเม็ดลูกแก้ว มีลักษณะเด่น ดังนี้
– เรียบ ให้ความรู้สึกเหมือนเนื้อผ้าเมื่อสัมผัส
– มีหน้ากว้างและรูปแบบให้เลือกหลากหลาย
– ใช้งานง่ายและสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย
– ใช้งานในสภาวะแวดล้อมที่เปียกชื้นได้
– ทนทาน สามารถซักได้ด้วยเครื่องซักผ้าทั้งชนิดธรรมดาและ ชนิดอุตสาหกรรม - เทคโนโลยีปริซึม (Prismatic elements) ปริซึมขนาดเล็กแบบมุมลูกบาศก์ถูกจัดวางเรียงกันจนเป็นแผ่นอย่างเป็นระเบียบ ขณะถูกมองเห็นในเวลากลางวัน ปริซึมแก้วขนาดเล็กแต่ละอันจะมีผิวสะท้อนแสงที่ตั้งฉาก กัน 3 อัน แสงที่ผ่านเข้ามาจะหักเหผ่านพื้นผิวแต่ละอันและสะท้อน กลับไปในทิศทางของกำเนิดแสง เหมือนลูกบอลกระเด้งกลับทางเดิมที่มุมของผนัง แถบสะท้อนแสงที่ใช้เทคโนโลยีปริซึม มีลักษณะเด่น ดังนี้
– เป็นชนิดสีฟลูออเรสเซนต์
– ให้ความรู้สึกมันวาว
– ใช้งานง่ายและสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย
– ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ ได้ดี เนื่องจากมีแผ่นฟิล์มพลาสติกปิดด้านหน้า
– ทนทานและสามารถซักทำความสะอาดได้
ข้อมูลจาก OT INTER TRADE