กฎเกณฑ์และหลักการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง

กฎเกณฑ์และหลักการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง

อุบัติเหตุจากการพลัดตกจากที่สูง เป็นอีกหนึ่งอุบัติเหตุที่มีปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ความเสี่ยงเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวเราในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ปฏิบัติงานบนที่สูง อย่างงานก่อสร้างบนนั่งร้าน งานบนเสาไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งการทำงานบนที่สูงอาจหมายถึง การทำงานบนพื้นต่างระดับจากพื้นราบ หรือการทำงานบนพื้นที่มีความต่างระดับของพื้นที่บริเวณใต้ดิน ประมาณ 2 เมตรขึ้นไป

อันตรายที่พบบ่อยที่สุดจากอุบัติเหตุของการทำงานบนที่สูง คือการพลัดตกจากที่สูงซึ่งอาจมาจากหลากหลายปัจจัย สามารถเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ หรือกลายเป็นผู้พิการ และบาดเจ็บ ดังนั้นผู้ที่ทำงานบนที่สูงควรรู้ถึงหลักการทำงานอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น

 

ความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง

  1. การทำงานบนที่สูงเกิน 2 เมตรขึ้นไป จะต้องมีการป้องกันการตกหล่น และมีการติดตั้งนั่งร้าน
  2. การทำงานบนที่สูงเกิน 4 เมตรขึ้นไป ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสวมใส่เข็มขัดนิรภัยหรือสายช่วยชีวิต ต้องมีตาข่ายนิรภัยรอง และมีราวกันตก
  3. ช่องเปิดหรือปล่องต่างๆ ต้องมีฝาปิดหรือรั้วกั้นความสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
  4. ทำงานบนที่ลาดชันเกิน 15 องศา ต้องมีการติดตั้งนั่งร้าน
  5. อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้บนที่สูง ต้องมีการผูกยึด ไม่ให้ตกลงมาด้านล่าง
  6. การใช้บันไดแบบเคลื่อนย้ายได้ มุมบันไดที่อยู่ตรงข้ามกับผนังที่พิง จะต้องวางทำมุม 75 องศา
  7. การใช้รถเครน ต้องมีแผ่นเหล็กรองขาช้าง เพื่อป้องกันการวางไม่ได้ระนาบหรืออ่อนตัว ซึ่งคนขับรถเครนและผู้ให้สัญญาณต้องผ่านการอบรม และรถเครนต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเข้าใช้งานในเขตหวงห้ามทุกครั้ง

นอกจากหลักความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูงแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการทำงานบนที่สูง ทั้งขั้นตอนก่อนเริ่มทำงาน ขั้นตอนการปันขึ้นที่สูง และกฎในการทำงานบนที่สูง มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

กฎพื้นฐาน (ก่อนการทำงานบนที่สูง)

  1. ผู้ปฏิบัติงานต้องเป็นผู้ได้รับมอบหมายและมีคุณสมบัติในการทำงานบนที่สูง
  2. สวมใส่เครื่องแต่งกายให้รัดกุมและเรียบร้อย
  3. เลือกจุดยึดที่แข็งแรงสามารถรองรับแรงกระเมื่อเกิดการตกได้
  4. สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลขณะทำงานเสมอ ได้แก่ ถุงมือที่ปราศจากน้ำมัน รองเท้านิรภัย เข็มขัดนิรภัยชนิดเต็มตัว (Full body harness) และสายช่วยชีวิต (Lanyard, SRL) เป็นต้น
  5. เตรียมแผนการช่วยเหลือ และอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น Tripod และ Winch เป็นต้น

กฎการขึ้นที่สูง

  1. การขึ้นหรือลงบันไดแนวตั้ง ให้ขึ้นลงทีละคน
  2. บันไดจะต้องถูกจับยึดให้แน่นและมั่นคง
  3. ขณะขึ้นหรือลงบันได ให้จับขอบบันไดด้วยมือ 2 ข้าง และก้าวขึ้นลงด้วยความเร็วปกติ
  4. ห้ามถือเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดๆ ขณะปีนขึ้นลงบันได หากมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้งาน ให้พกพาโดยการใส่ไว้ในกระเป๋าที่ติดกับเข็มขัดเท่านั้น

หลักการใช้บันไดพาดอย่างปลอดภัย

ในงานหลายๆ งานจำเป็นต้องใช้บันไดพาด ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องรู้หลักในการใช้บันไดพาดให้ปลอดภัย เนื่องจากขั้นตอนการปีนขึ้นที่สูงก็สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน

  1. การเลือกประเภทของบันได ต้องเป็นบันไดที่รองรับน้ำหนักผู้ปฏิบัติงานและงานได้ มีความยาวพอเหมาะ หากทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า วัสดุที่ใช้ทำบันไดต้องเป็นฉนวนไฟฟ้า
  2. ตรวจสภาพก่อนใช้งาน โดยตัวบันไดต้องไม่ชำรุด
  3. บันไดที่มีความยาวไม่เกิน 5 เมตรสามารถยกเคลื่อนย้ายด้วยคนคนเดียวได้ โดยใช้วิธีพาดกับไหล่แนวนอน ปลายด้านหน้ายาว 2 เมตร ส่วนแขนอีกข้างคอยพยุงควบคุมทิศทาง
  4. การปีนบันได ต้องใช้บันไดที่แข็งแรง วางบันไดบนฐานที่มั่นคง ไม่ลื่น และวางให้ทำมุมประมาณ 75 องศา
  5. การทำงานบนบันได้ งานที่ทำจะต้องห่างจากบันไดขั้นบนไม่เกิน 1 เมตร หากทำงานในที่สูงตามเกณฑ์ต้องใส่เข็มขัดนิรภัย
  6. ห้ามดัดแปลงนำบันไดไปใช้งานอย่างอื่น เช่น พาดทำเป็นทางเดินระหว่างตึก และห้ามนั่งทำงานบนบันได

กฎการทำงานบนที่สูง

  1. ห้ามทำงานบนที่สูงเพียงลำพังคนเดียว
  2. ห้ามเคลื่อนไหวตัวรวดเร็ว เมื่อทำงานสูงกว่าพื้นดินเกิน 2 เมตร
  3. ห้ามโยนสิ่งของหรือเครื่องมือให้แก่ผู้อยู่บนที่สูง
  4. ห้ามทิ้งสิ่งของหรือเครื่องมือลงสู่เบื้องล่าง
  5. การตัด การเชื่อมบนที่สูง ให้ตรวจสอบและเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงและสารไวไฟทุกชนิดในพื้นที่เบื้องล่างก่อน รวมถึงขณะตัดหรือเชื่อมให้ทำด้วยความระมัดระวัง
  6. ผู้ควบคุมงานต้องดูแลไม่ให้ใครเดินผ่านเบื้อล่างจุดทำงาน
  7. ระวังขอยกหรือ Hanger ชน เมื่อจำเป็นต้องทำงานในเส้นทางของขอยก
  8. ขณะยืนบนหลังคากระเบื้อง ห้ามเหยียบที่แผ่นกระเบื้องโดยตรง

กฎต่างๆ รวมถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเหล่านี้จะไม่เกิดประสิทธิภาพ หากผู้ปฏิบัติงานและผู้ร่วมงานไม่นำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติทุกครั้งที่ต้องมีการทำงานบนที่สูง

 

ที่มา: กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ Office Mate